วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เพลง ทุ่งสานสะเทือน

เพลง ทุ่งสานสะเทือน เป็น เพลงดังปี 2519 เป็นเพลงกล่าวถึงประวัติท้องทุ่งอันเวิ้งว้างที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ที่ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกทำประโยชน์ ต่อมาเกิดปัญหาพิพาทเรื่องที่ดินถึงขั้นนองเลือด...เพลงนี้"ศรคีรี ศรีประจวบ"ร้องเป็นต้นฉบับไว้แต่ปี 2514-15

****************************************************************
เพลง ทุ่งสานสะเทือน
ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ
คำร้อง-ทำนอง พยงค์ มุกดา

ทุ่งสานสะเทือน สะเทือนสะเทือน
เกลื่อนภัยคุกคาม ทั่วพรหมพิรามพิษณุโลก
ทุ่งสานสีทอง ต้องกลายเป็นแดนแสนวิปโยค
ชุ่มโชกด้วยเลือด และน้ำตานอง
ทุ่งสานก่อนนี้ ก่อนนี้ก่อนนี้
มีเพียงเขาป่า ทุ่งพงพนาฟ้าฝนมิต้อง
ต่อชาวไร่นาพากันทำกิน พลิกดินป็นทอง
ทุ่งสานกลับต้องหลั่งเลือดนองไหล
พม่ารบไทย ครั้งในอดีต
ไทยยอมสละชีวิต คิดปกป้องอธิปไตย
แต่ศึกทุ่งสานนั้นรบกับใคร
พรหมพิรามเปลี่ยนนามเสียใหม่ เป็นพรหมพิราบอาบเลือดน้ำตา
ทุ่งสานสะเทือน สะเทือนสะเทือน
เปื้อนเลือดของใคร ก็เลือดของไทยแสนจะขายหน้า
ทุ่งสานนั้นสามัคคี พลีชีพเพื่อพสุธา
แดนสนธยา ทุ่งสานสะเทือน...
****************************************************************

ชุมชนต่างๆ ที่รายรอบอยู่ ณ ทุ่งสานอาจแบ่งได้ 4 ประเภท ตามลักษณะของการตั้งถิ่นฐาน พวกแรกเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มายาวนาน พวกที่ 2 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวที่อพยพเข้ามาเป็นระยะๆ ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ พวกที่ 3 เป็นกลุ่มคนอพยพรุ่นใหม่ที่มาจากจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง พวกที่ 4 เป็นชุมชนที่ถูกแบ่งแยกไปขึ้นในเขตการปกครองใหม่ หลังจากการแบ่งวัดโบสถ์ออกไปจากพรหมพิราม

ทุ่งสาน สำหรับชุมชนเหล่านี้ คือทรัพยากรเปิดที่พวกเขาสามารถทำมาหากินได้อย่างอิสระ เป็นพื้นที่ที่พวกเขาผลิตความสัมพันธ์ทั้งทางการผลิตและวัฒนธรรมประเพณี การแย่งชิงทรัพยากรยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากคนน้อยและความเหลือเฟือของทรัพยากร

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ณ ท้องทุ่งแห่งนี้ ประมาณหลัง พ.ศ. 2500 เนื่องจากรัฐมีนโยบายสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทำให้ปริมาณน้ำค่อยๆ หายไป ทำให้ทุ่งสานเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ชุ่มน้ำ กลายเป็นผืนดินขนาดใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว คนจากภายนอกเริ่มอพยพเข้ามาจับจองที่ดิน รวมทั้งซื้อขายจากนายทุนผู้บุกเบิกที่ดิน การแทรกแซงของรัฐและทุน ทำให้อำนาจการจัดการสมบัติสาธารณะชิ้นนี้หลุดไปจากชุมชน เมื่อสมบัติสาธารณะถูกแปรสภาพเป็นสมบัติปัจเจก การต่อสู้แย่งชิงจึงเกิดขึ้น รวมทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิของชาวบ้าน

ความขัดแย้งดำเนินไปอย่างรุนแรงเมื่อรัฐปฏิเสธสิทธิของชาวบ้าน และอ้างว่าทุ่งสานเป็นสมบัติของรัฐตามกฎหมาย รัฐจัดตั้งนิคมสร้างตนเองทุ่งสานเพื่อยืนยันสิทธินี้ และจัดสรรที่ดินให้แก่ชาวบ้านผู้สมัครเป็นสมาชิก ชาวบ้านตอบโต้โดยเดินขบวนไปยังศูนย์อำนาจ ณ กรุงเทพฯ เพื่อยืนยันสิทธิการใช้ที่มีมาก่อนการประกาศกฎหมายของรัฐ

การต่อสู้ของชาวบ้านยุติลงประมาณหลัง พ.ศ. 2520 อาจกล่าวได้ว่าชาวบ้านได้ทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ อำนาจในการจัดการทุ่งสานในฐานะเป็นสมบัติสาธารณะหลุดไปจากมือชาวบ้าน ทุ่งสานกลายเป็นสมบัติของปัจเจก แต่ก็อยู่ภายใต้การบริหารของนิคมฯ ซึ่งกลายเป็นสมบัติสาธารณะชิ้นใหม่ของชาวบ้านแต่ยากสำหรับการเข้าถึง

ที่มา

ไม่มีความคิดเห็น: