ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC – SIMBA) และเป็นนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ โครงการดัชนีผู้บริโภคประจำไตรมาสที่ 4/2553 (ABAC Consumer Index: ACI) กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 15-60 ปี จำนวน 2,159 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน–2 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์
ดร. อุดม กล่าวต่อว่า เมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายในสินค้าหรือบริการที่ประชาชนได้จับจ่ายใช้สอยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับของกิน อาหาร (รวมถึงร้านอาหาร) นั้น อยู่ที่ 4,037.42-4,322.96 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่าย แฟชั่น เครื่องแต่งกาย อยู่ที่ 1,168.17–1,382.85 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายสุขภาพ/เกี่ยวกับความงาม เช่น สปา นวด คลินิกรักษาผิวหนัง อยู่ที่ 94.32–151.44 บาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบันเทิงและสันทนาการ เช่น ดูคอนเสิร์ต ดูภาพยนตร์ ค่าบริการสถานที่เล่นกีฬา อยู่ที่ 96.23 –158.53 บาท ค่าใช้จ่ายของใช้อุปโภค เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน อยู่ที่ 1,021.71–1,134.95 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อยู่ที่ 39.11– 95.95 บาทต่อเดือน ทั้งนี้เมื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อเดือน ประมาณ 5,696.09–6,086.74 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือน ตุลาคม - ธันวาคมของปี 52 พบว่า ตัวอย่างเกินครึ่ง หรือร้อยละ 58.8 คิดว่าแย่ลง ร้อยละ 30.0 คิดว่าทรงตัว ในขณะที่ร้อยละ 11.2 คิดว่าดีขึ้น และเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าตัวอย่างร้อยละ 41.6 คิดว่าแย่ลงร้อยละ 38.0 คิดว่าทรงตัว ในขณะที่ร้อยละ 20.4 คิดว่าดีขึ้น
เมื่อถามถึงรายได้ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของปี 52 พบว่า ตัวอย่างเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.8 คิดว่าแย่ลง ร้อยละ 41.9 คิดว่าทรงตัว ในขณะที่ร้อยละ 8.3 คิดว่าดีขึ้น และเมื่อสอบถามถึงรายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าตัวอย่างร้อยละ 48.6 คิดว่าทรงตัว ร้อยละ 18.8 คิดว่าดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 32.6 คิดว่าแย่ลง
สำหรับความเหมาะสมที่จะซื้อสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ สินค้าคงทนอื่นๆ (ไม่รวมถึงบ้านและรถยนต์) ในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างเกินครึ่ง หรือร้อยละ 59.0 ระบุไม่เหมาะสม ร้อยละ 35.8 ระบุไม่ทราบ/ยังไม่แน่ใจ ในขณะที่ร้อยละ 5.2 ระบุเหมาะสม และเมื่อถามถึงการมีแผนที่จะซื้อสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ สินค้าคงทนอื่นๆ (ไม่รวมถึงบ้านและรถยนต์) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ตัวอย่างประมาณสองในสาม หรือร้อยละ 63.5 ระบุไม่มีแผน ร้อยละ 26.1 ระบุไม่ทราบ/ยังไม่แน่ใจ ในขณะที่ร้อยละ 10.4 ระบุมีแผนที่จะซื้อ
ที่น่าพิจารณาคือตัวอย่างร้อยละ 62.6 ไม่มีเงินเก็บออม และ ร้อยละ 37.4 มีเงินเก็บออม โดยมีรูปแบบการเก็บออม ใน 3 อันดับแรกคือ การออมเงินฝากกับธนาคาร รองลงมาคือ การทำประกัน และ ซื้อสลากออมสิน ตามลำดับ
ผลสำรวจยังพบว่า เมื่อถามถึงการวางแผนท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในอีก 3 เดือนข้างหน้านั้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 81.7 ไม่ได้วางแผนไปเที่ยวต่างจังหวัด และร้อยละ 97.5 ไม่ได้วางแผนไปเที่ยวต่างประเทศ
และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนความสุขของกลุ่มผู้บริโภคต่อการทำงานและการประกอบอาชีพ ในช่วงเดือนกรกฎาคม และเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มผู้บริโภคมีค่าคะแนนความสุขโดยเฉลี่ยจาก 6.82 คะแนน มาอยู่ที่ 7.39 จากคะแนนเต็ม 10
ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 61.9 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 38.1 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 14.9 ระบุอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 28.6 อายุ 25-34 ปี ร้อยละ 26.5 อายุ 35-44 ปี ร้อยละ 30.0 ระบุอายุ 45-60 ปี ตัวอย่างร้อยละ 52.7 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/เทียบเท่า หรือต่ำกว่า ร้อยละ 24.3 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 7.8 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปวส./อนุปริญญา หรือเทียบเท่า และร้อยละ 15.2 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 4.1 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.9 ระบุอาชีพพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 42.1 ระบุอาชีพธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ร้อยละ 4.5 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 25.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 7.8 ระบุเป็น แม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่าร้อยละ 77.4 ระบุรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 22.6 ระบุรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291351696&grpid=00&catid=&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น