FISU หรือสหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก ย่อมาจาก Federation Internationale dy Sport Universitaire (International University Sports Federation) ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 138 ประเทศ จาก 5 ทวีปทั่วโลก มีประวัติความเป็นมาจาการแข่งขัน World Student Game ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2466) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยJean Detitean ผู้สนใจในกิจกรรมและการกีฬามหาวิทยาลัย ภายหลังได้จัดตั้งเป็น International Confederation of Students (I.C.S.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ที่เป็นนักกีฬาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก เข้าร่วมการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ด้วยจิตวิญญาณและพลังที่รักในการกีฬาอันเป็นทางในการพัฒนาตนเองเพื่อบรรลุสู่ความเป็นเลิศในทางการกีฬาและเพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ และความเข้าใจซึ่งกันและกันในกลุ่มกีฬามหาวิทยาลัยทั่วโลก
แต่แล้ว World Student Game ก็ต้องหยุดชะงักลงในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 หลังจากสงครามสงบลงฝรั่งเศสได้ฟื้น World University Game โดยจัดให้มีการแข่งขันอีกครั้ง ซึ่งมีเพียงมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศตะวันตกไม่กี่ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันเหตุเนื่องจาก “ภาวะสงคราเย็น”
ในปี ค.ศ. 1949 จึงได้มีการก่อตั้งสหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก (Federation Internationale dy Sport Universitaire) มีชื่อย่อว่า FISU ขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น FISU จัดให้มีการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อนและฤดูหนาวในทุก ๆ 2 ปี สำหรับในปีที่ว่างเว้น ได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศ กีฬามหาวิทยาลัยโลก(World University Championships) ซึ่งจะต้องเป็นกีฬาที่ไม่รวมอยู่ในรายการการแข่งขันของกีฬามหาวิทยาลัยโลก ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1949 มีทั้งมหาวิทยาลัยในกลุ่มโลกตะวันตกและตะวันออก เข้าร่วมการแข่งขันกันอย่างเสมอภาคด้วย
ค.ศ.1959 ได้มีการแข่งขันมหาวิทยาลัยโลก ในชื่อของ Universiade ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมือง Turin ประเทศอิตาลี นับจากนั้นได้มีการจัดแข่งขันอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 2 ปี ครั้งสุดท้ายได้มีการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อนครั้งที่ 23 ค.ศ. 2005 ที่เมือง LZMIR ประเทศตุรกี ส่วนการแข่งขันในฤดูหนาว จัดขึ้นที่เมือง Innsbruck/Seefeld ประเทศออสเตรีย สำหรับในปี ค.ศ.2007 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2550 นี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ฤดูร้อน ครั้งที่ 24 จากคณะกรรมการบริหารสหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก ฤดูร้อน (FISU: International University Spots Federation) ระหว่างวันที่ 8-18 สิงหาคม 2550 มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 170 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาการกีฬาในระดับอุดมศึกษาของชาติให้เจริญก้าวหน้าตอบสนองต่อแผนพัฒนาของชาติทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ตลอดจนส่งเสริมและปลูกฝังค่านิยมที่ดีต่อการกีฬา
2. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้านการกีฬาและนิสิตนักศึกษาไทย กับบุคลากรด้านการกีฬาและนิสิต นักศึกษาจากนานามหาวิทยาลัยทั่วโลก
3. เพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษา ตลอดจนบุคลากรด้านกีฬาของสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ได้มาตรฐานสากล
4. เพื่อสร้างเกียรติภูมิแก่ประเทศ และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่นักศึกษาและประชาชนชาวไทย
สัญลักษณ์การแข่งขัน FISU เป็นรูปตัว U ที่มาจากคำว่า University และดาวทั้ง 5 ดวง แทนถึง 5 ทวีปเส้นสายทั้ง 5 สี ร้อยเรียงในรูปตัว U เปรียบได้ดังเส้นสายแห่งการถ่ายทอดประสบการณ์การแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรม ระหว่างตัวแทนและนักกีฬาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใน 5 ทวีป ทั่วโลกทั้งหมดรวมกันเป็นหนึ่งเดียวพุ่งม้วนเข้าสู่สัญลักษณ์ลวดลายสีเหลืองทอง อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย เปี่ยมล้นไปด้วยความปิติยินดีและความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติให้เป็นศูนย์กลางแห่งการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม จึงเป็นที่มาของคำว่า “ALL BECOME ONE”
และเนื่องในปี พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเลือก “กระต่าย” อันเป็นนักษัตรปีพระราชสมภพ เป็นสัญลักษณ์นำโชคในการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากนี้กระต่ายยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความว่องไง เฉลียวฉลาด อ่อนโยน พร้อมในการต้อนรับนักกีฬาทุกชาติด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพ ทั้งรูปร่างหน้าตา สีสันและกิริยาท่าทางออกแบบแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนอันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยที่มีสืบต่อกันมายาวนาน
ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา ฯ ครั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ได้ขอความร่วมมือให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกมหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 และเผยแผ่พระเกียรติคุณไปยังนานาประเทศทั่วโลก จัดทำเหรียญกษาปณ์โลหะสองสี (สีขาวและสีทอง) ชนิดราคา 10 บาท ประเภทธรรมดา จำนวนผลิตไม่เกิน 5,000,000 เหรียญ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ลักษณะ เป็นเหรียญกษาปณ์กลม วงขอบนอกมีเฟืองจักรสลับเรียบ
ลวดลาย ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้ายทรงฉลองพระองค์สากล ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เบื้องล่างมีข้อความว่า “รัชกาลที่ ๙” โดยมีลายไทยคั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่างทั้งสองข้าง
ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปสัญลักษณ์การจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ฤดูร้อน ครั้งที่ ๒๔ ด้านขวาของรูปสัญลักษณ์มีข้อความบอกราคาว่า “๑๐ บาท” ด้านซ้ายมีข้อความบอกราคาว่า “10 BAHT” ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “กีฬามหาวิทยาลัยโลก ฤดูร้อน ครั้งที่ ๒๔” เบื้องล่างมีข้อความว่า “๘-๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐ ประเทศไทย”
ส่วนผสม โลหะสีขาว (วงนอก) มีส่วนผสมของ
ทองแดงร้อยละ 75
นิกเกิลร้อยละ 25
โลหะสีทอง (วงใน) มีส่วนผสมของ
ทองแดงร้อยละ 92
นิกเกิลร้อยละ 2
อะลูมิเนียมร้อยละ 6
น้ำหนัก เหรียญละ 8.5 กรัม
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร
จำนวนการผลิต ไม่เกิน 5,000,000 เหรียญ
ผู้เขียน - เดือนฉาย เอกศาสตร์
ค้นคว้าจาก -โครงการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกมหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 ของกรมธนารักษ์
ผลิต ห้าล้านเหรียญ ผมมี 5 เหรียญนะครับ :)